สุขภาพ

น้ำมันปลา กับ สุขภาพดี

Share this article

น้ำมันปลา กับ สุขภาพดี

น้ำมันปลา (Fish oil) เป็นส่วนหนึ่งของไขมันที่สกัดจากส่วนหัวและส่วนเนื้อของปลา เช่น ปลาทูน่า ปลาทู และปลาซาร์ดีน ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิด โอเมก้า 3 ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเด่นๆ 2 ชนิด ได้แก่

– กรดดีโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA ( Decoxahexaenoic Acid )

– กรดไอโคซาเพนทาอีโนอิก หรือ EPA ( Eicosapentaenoic Acid )

จากการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำมันตับปลาทะเลอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้ โดยการป้องกันการสะสมของไขมันใต้ผนังหลอดเลือดแดง (Arteroma)จากการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและการป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Thrombosis) จากการเพิ่ม Thrombroxane A3 (TXA3)

น้ำมันปลาทะเลที่ใช้ควรมีปริมาณ EPA สูงขนาดที่ใช้ประมาณ 3 กรัมต่อวัน และต้องบริโภคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาทดลองในคนจำนวนมากเป็นเวลานานเพียงพอ จึงไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าการบริโภคน้ำมันปลาทะเลจะช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดแดงได้และจะมีอันตรายในระยะยาวหรือไม่

DHA พบมากทีสมองและจอตาของสัตว์บกและคน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดบ่งบอกว่า DHA มีผลต่อสายตาและการเรียนรู้ในระยะยาว ถ้าจะเติม DHA ในผลิตภัณฑ์นมเลี้ยงทารกและเด็กเล็กต้องเติม AA (Arachidonic acid) โดยมีปริมาณอัตราส่วนของ DHA และ AA เท่ากับในนมแม่ ไม่ควรมี EPA และอัตราส่วน กรดไลโนเลอิก และกรดไลโนเลนิค ต้องเท่ากับในนมแม่

ไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นที่แสดงว่าถ้าบริโภคน้ำมันปลาทะเลแล้วจะทำให้เด็กฉลาดมากขึ้นและทำให้ผู้สูงอายุมีความจำดีขึ้น

น้ำมันปลาทะเลอาจเป็นประโยชน์ในการลดการอักเสบ ( inflammatory ) และโรคที่เกี่ยวกับภูมิต้านทาน ( Immunologic disease) เช่น SLE, rheumatoid arthritis เป็นต้นด้วยการที่ EPA ไปแทนที่ AA ยับยั้งการสังเคราะห์ cytokines ที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น IL-1,IL-2 และ TNF มีรายงานผลการศึกษาการบริโภคน้ำมันปลาทะเลวันละ 6 กรัม ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 2.6 กรัม นาน 12 เดือนในผู้ป่วย rheumatoid arthritis พบว่าผู้ป่วยมีอาการของข้อดีขึ้นและสามารถลดยาที่รักษาอยู่ได้โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่บริโภคน้ำมันมะกอกวันละ 6 กรัมเช่นกัน

ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันปลา

1. เลือดออกง่าย(Excess Bleeding) เนื่องจากการลดการจับตัวของเกร็ดเลือด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ที่รับประทาน Baby Aspirin เป็นประจำ

2. เพิ่มความต้องการวิตามินอี เนื่องจากร่างกายต้องนำวิตามินอีไปต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมันไม่อิ่มตัว (PUFA) ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับ Antioxidant ไม่เพียงพอในระยะยาวอาจส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากการเพิ่ม oxidize LDL

3. อาจเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจาก EPA กดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

น้ำมันปลาแม้จะมีประโยชน์ในการรักษาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากน้ำมันปลาทะเลมีกลิ่นแรงและต้องใช้ขนาดสูง ผู้ป่วยมักรู้สึกผะอืดผะอมและปั่นป่วนในท้องมากจนต้องหยุดรับประทานไปในที่สุด นอกจากนั้นยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรบริโภคปลาทะเลแทนน้ำมันปลาทะเลในปริมาณสัปดาห์ละ 3 มื้อ มื้อละ100 กรัม

ที่มา เภสัชจุฬา

น้ำมันตับปลากับน้ำมันปลาต่างกันอย่างไร

• น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) สกัดจากตับของปลาทะเล นิยมรับประทานเพื่อเสริมวิตามินเอ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเยื่อบุผิวให้เป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีวิตามินดี ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมรวมทั้งฟอสฟอรัสบริเวณลำไส้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้การสร้างกระดูกเป็นไปอย่างปกติ แต่หากได้รับวิตามินเกินขนาด โดยเฉพาะวิตามินเอและดี ก็อาจเกิดพิษจาก การสะสมวิตามินเกินความจำเป็น โดยมีอาการความดันในสมองสูง ปวดศีรษะ หิวน้ำ และปัสสาวะบ่อย ฯลฯ
• น้ำมันปลา (fish oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อ หนัง หัว และหางปลาทะเล อาทิ ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแมคคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันปลามีกรดไขมันที่ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างเองได้ โดยเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid) หรือ PUFA 2 ชนิด ในกลุ่มโอเมก้า 3 คือ

– Eicosapentaenoic acid (EPA)
– Docosahexaenoic acid (DHA)

ปัจจุบัน วงการแพทย์ให้ความสนใจถึงความสัมพันธ์ของน้ำมันปลากับโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และสาเหตุการเกดโรคก็มาจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจไหลเวียนไม่สะดวกเพราะผนังหลอดเลือดหนาและแข็งขึ้นจากการเกาะตัวของโคเลสเตอรอล การอุดตันของเกร็ดเลือดที่รวมตัวกันส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง บางรายที่อาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้ จึงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานน้ำมันปลา เพราะมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือด และยังช่วยลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดได้เป็นอย่างดี

รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรจึงจะปลอดภัย
1. บุคคลทั่วไป ควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งอาหารที่มีกรด alpha – linolenic acid สูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดธัญญพืช เต้าหู้ เป็นต้น
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานน้ำมันปลา ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
3. ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรรับประทานวันละ 2 – 4 กรัม

* ก่อนตัดสินใจรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย และพึงระวังว่าการรับประทานน้ำมันปลาขนาดสูง อาจทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลง *

ที่มา bangkokhealth




Loading