9 สุดยอดเทคนิคการออมเงิน
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายต่างๆแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ สินค้าก็มีแต่ขึ้นราคา แต่เงินเดือนไม่ค่อยจะขึ้นสักเท่าไหร่
สุดท้ายก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน มีบัตรเครดิตเครดิตหลายใบ เงินออมไม่ต้องพูดถึงแค่ใช้ให้เพียงพอก็ยังไม่พอเลย วันนี้เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังถึง 9 สุดยอดเทคนิคการออมเงิน ซึ่งจริงๆไม่ใช่เรื่องยากแต่ขอให้เริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง รับรองว่ามีเงินออมกับเค้าอย่างแน่นอน
1. เก็บก่อนใช้
ได้รายได้มาเท่าไหร่ก็เก็บเงินก่อน เช่นได้เดือนละ 20,000 บาท เก็บทุกเดือนๆละ 5,000 บาท ดังนั้นเท่ากับจริงๆเรามีรายได้ต่อเดือนเพียงเดือนละ 15,000 บาท ลืมตัวเลขเงินเก็บไปได้เลย ให้เก็บเงินก่อนแล้วค่อยใช้ หากเก็บวิธีนี้ต่อเนื่อง 1 ปีจะมีเงินออม 60,000 บาทยังไม่รวมดอกเบี้ย แต่หากเก็บเงินด้วยวิธีนี้ต่อเนื่อง 10 ปีจะมีเงินออมถึง 600,000 บาทเลยทีเดียว ถ้ารู้จักนำไปลงทุน เผลอๆจะมีเงินเก็บเป็นหลักล้านเลยทีเดียว ดังนั้นจำไว้ง่ายๆว่า เก็บก่อนใช้
2. พกเงินน้อยลง
พกเงินติดตัวน้อยลงกว่าแต่ก่อน โดยคำนวณว่าค่าใช้จ่ายต่อวันที่เหมาะสม จากนั้นก็ถอนเงินมาเป็นรายสัปดาห์และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆให้เป็นไปตามแต่ละวันที่วางแผนไว้ โดยให้พกเงินสดรายวันไว้ก็พอ และต้องคอยเตือนตัวเองว่านี่คือเงินที่เราต้องใช้ทั้งสัปดาห์นะ ไม่ใช่ใช้หมดภายใน 1 วัน แล้วให้ถอนเงินเป็นรายสัปดาห์แทนที่จะถอนเงินทุกครั้งที่เงินหมด วิธีนี้จะช่วยคุณออมเงินได้ดีขึ้นและควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆได้มากขึ้น
3งดใช้บัตรเครดิต
จำกัดการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระค่าใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น แทนที่จะใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าค่ะ
วิธีการ: ใช้บัตรเครดิตเพื่อการชำระค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ผ่อนสินเชื่อ หรือหากต้องซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ราคาแพง เช่นต้องซื้อตู้เย็นใหม่ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ถึงใช้บัตรเครดิต
ไม่ใช้บัตรเครดิตในการช็อปปิ้งสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าจุกจิกค่ะ เพราะแบบนั้นจะทำให้เราเผลอใช้บัตรเครดิตบ่อยมาก ทำให้มียอดจุกจิกเต็มไปหมด แต่ยอดจุกจิกเนี่ยล่ะค่ะ รวมๆ กันแล้วมันกลับเยอะ เผลอๆ จะจ่ายไม่ไหวเอา ก็จ่ายได้แค่ขั้นต่ำ ทำให้เราต้องเสียดอกเบี้ยตามมา ใช้แต่พอดีนะคะ จะได้มีเงินออมกันค่ะ
4เก็บแบงค์ 50 บาท
เป็นวิธีออมเงินที่ง่ายอีกอย่างที่เราสามารถทำได้วันนี้เลยนะคะ เก็บแต่แบงก์ 50 บาทค่ะ
วิธีการ: ได้แบงก์ 50 บาทมาเมื่อไหร่ เก็บเมื่อนั้น ซุกไว้ในมุมมืดของกระเป๋าตังค์ กลับบ้านก็เอาไปหยอดใส่กระปุก หรือกระป๋องที่เราเตรียมไว้ พอกระปุกเต็ม หรืออาจจะครบระยะเวลาที่เรากำหนด ก็นำเงินส่วนนี้ไปฝากธนาคาร ง่ายม้๊ยคะ
สมัยนี้แบงก์ 50 บาทก็เรียกได้ว่ายังเป็นแบงก์ที่ได้ไม่บ่อย คนใช้ไม่เยอะ คิดซะว่าเป็นของหายาก ต้องเก็บรักษา ถึงเดือน หรือทุก 2-3 เดือนก็เอาไปฝากธนาคาร บางคนใช้วิธีนี้เก็บเงินได้เป็นหมี่นๆ นำเงินเก็บไปเที่ยวต่างประเทศได้เลยก็มีค่ะ
5เปิดบัญชีฝากประจำระยะยาว
หากเราเป็นคนที่ใจอ่อนกับตัวเอง วิธีการบังคับตัวเองให้ออมเงินอีกอย่าง คือการเปิดบัญชีเงินฝากประจำระยะยาว อาจจะเริ่มที่ 5 ปีก่อน แล้วค่อยขยับขยายก็ได้ค่ะ
วิธีการ: เปิดบัญชีเงินฝากประจำ เริ่มต้นที่ฝากประจำเป็นเวลา 5 ปี แล้วฝากเงินจำนวนเท่าๆ กันในบัญชีนั้น ทุกๆ เดือน โดยใช้ระบบการตัดยอดเงินอัตโนมัติตามจำนวน และระยะเวลาที่เราต้องการ แล้วนำฝากเข้าบัญชีฝากประจำทุกเดือน
เพราะว่าบัญชีเงินฝากประจำเราจะไม่สามารถนำเงินออกมาได้จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา การตั้งให้มีการตัดเงิน โอนเงินอัตโนมัติจะทำให้เราไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องไปโอนเงิน หรือฝากเงินด้วยตัวเอง ไม่ต้องทำบัตร ATM ด้วยค่ะ แค่นี้เราก็มีเงินเก็บทุกๆ เดือนแน่นอนแล้วค่ะ
6หยอดกระปุกออมสิน
หยอดกระปุก เรื่องเด็กๆ แต่บางคนหยอดกระปุกก็จริงแต่ก็แคะกระปุกมาใช้ตลอด แบบนี้ก็เก็บเงินไม่อยู่เหมือนกันนะคะ จริงๆ แล้วการหยอดกระปุก จะให้ดี เราควรทำการแบ่งกระปุกออกเป็นหลายๆ จุดประสงค์ แต่ละกระปุกก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไปค่ะ
วิธีการ: หากระปุกออมสินมาหลายๆ ใบ นำกระดาษเขียนจุดประสงค์การเก็บเงินของแต่ละกระปุกมาแปะไว้ที่กระปุก เช่น สำหรับเที่ยวสงกรานต์ปี 59 ซื้อนาฬิกาใหม่ ซื้อโทรศัพท์ใหม่ ซื้อแล็บท็อปใหม่ เป็นต้น อย่าลืมแบ่ง 1 กระปุกไว้สำหรับการออมเงินด้วยนะคะ
คุณอาจจะแบ่งหยอดกระปุก วันละ 10-20 บาทต่อกระปุก หยอดโดยแบ่งจากจำนวนเงินที่เหลือใช้รายวัน รายสัปดาห์ก็ได้ค่ะ ทีนี้ก็มีเงินสะสมเพื่อใช้ซื้อโน่นนี่แล้วยังมีแล้วแบ่งเงินหยอดกระปุกสำหรับการออมเงินอีกด้วยค่ะ ได้ประโยชน์รอบตัวเลย
7เอาชนะใจตัวเอง
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการออมเงิน คิดว่าคงเป็นการเอาชนะใจตัวเอง ไม่ซื้อ ไม่ใช้ ไม่เอาเงินในกระปุกออกมาใช้จ่าย แต่จะทำยังไงล่ะถึงจะบังคับตัวเอง สร้างวินัยในการออมเงินใหม่ได้?
วิธีการ: สร้างเป้าหมายระยะยาวสำหรับการออมเงินให้ตัวเอง ว่าเราต้องการออมเงินเพื่ออะไร ซื้อบ้าน ซื้อรถ ดูแลครอบครัว ซื้อคอนโด ฯลฯ มีเป้าหมายชัดเจนในการออมเงิน แล้วใช้เป้าหมายนี้เตือนตัวเองว่าเราต้องออมเงินไปเพื่ออะไร
หากเรามีเป้าหมายชัดเจนสำหรับการออมเงิน ว่าเราต้องการออมเงินไปเพื่ออะไร แม้ว่าจะเป็นการออมเงินเพื่อการมีเงินสะสม เพื่ออนาคตที่สุขสบาย ก็ยังเป็นเป้าหมายที่ดีค่ะ แล้วเราก็ใช้เป้าหมายเหล่านี้แหละค่ะมาเตือนตัวเองเวลาเราคิดจะแคะกระปุกเอาเงินไปใช้ ว่าเราอุตส่าห์อดทนออมเงินเพื่ออะไรกันแน่ พอเรานึกถึงเป้าหมายแล้ว รับรองว่าสามารถเอาชนะใจตัวเองได้แน่นอนค่ะ
8ไม่ยึดติดแบรนด์เนม
พวกเสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ของแบรนด์เนมก็ได้นะคะ เลือกยี่ห้อที่ราคาดี คุณภาพดี คุ้มค่ากับราคา ใช้งานได้นานๆ จะดีกว่าเลือกของแพงๆ เพราะจะได้ใช้แล้วดูดีค่ะ
วิธีการ: เลือกสินค้า ของใช้ที่คุณภาพ และความเหมาะสมของคุณภาพและราคา โดยใช้จุดประสงค์ที่เราต้องการซื้อเป็นหลัก
หากเราเป็นนักธุรกิจ อาจจะลงทุนเพื่อสั่งตัดชุดทำงานชุดเก่งสัก 2 ชุดที่ดูดี เวลาเราต้องออกไปพบลูกค้า หรือหุ้นส่วน หรือเข้าประชุม ส่วนนอกจากนั้น อาจจะซื้อเสื้อโปโล หรือเสื้อเชิ้ตที่ดูดี ไม่ได้ต้องแพงใส่วันทำงานธรรมดาแทนก็ได้ค่ะ ของแบบนี้มิกซ์แอนด์แมทช์ได้อยู่แล้ว ทีนี้ก็มีเงินเก็บได้อีกเพียบเลยค่ะ
9 ลดค่าใช้จ่าย
วันๆ หนึ่ง คนทำงานต้องกินต้องใช้ กาแฟ ชา ขนม นม เนย ของขบเคี้ยวแก้ง่วง ถ้าซื้อบ่อย ซื้อประจำ ก็เปลืองเงิน อะไรลดได้ก็ลดดีกว่าค่ะ ถือซะว่าเป็นการลดน้ำหนักไปในตัวด้วยเลย
วิธีการ: ลดการซื้อชา กาแฟ เปลี่ยนมาซื้อชาเป็นกล่อง กาแฟผงชงเอง ลดปริมาณขนมขบเคี้ยวที่รับประทานประจำวัน วางแผนอาหารการกินของตัวเอง
จริงๆ แล้วหากเราทำกับข้าวเองอยู่แล้ว เราก็สามารถทำกับข้าวเพิ่มตอนกลางคืน แล้วนำที่เหลือใส่กล่องมารับประทานที่ออฟฟิศแทนก็ได้นะคะ เป็นการลดค่าใช้จ่าย แถมได้กินคลีน กินอาหารดีๆ อีกด้วยค่ะ แล้วก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มสิ่งที่เราทำประจำวันแต่อย่างใดเลยด้วยค่ะ
จริงๆ แล้วคนทุกคนสามารถเก็บออมเงินได้ทุกคนนะคะ เพียงแค่เราจะต้องตั้งใจสร้างวินัยในการออมเงินของเราให้ได้เสียก่อน ตั้งใจว่าจะเก็บเงินจริงจัง ตั้งเป้าหมายการออมเงินให้ตัวเอง แล้วใช้เป้าหมายนี้ล่ะค่ะในการเตือนตัวเอง เราก็จะสามารถเก็บออมเงินได้อย่างแน่นอนค่ะ